Tuesday, October 8, 2013

ภาวะการศึกษาไทยวันนี้: อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น


ข่าวร้ายเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาของไทยยังประดังมาไม่ขาดสาย และหากไม่มีการปรับปรุงอย่างเป็นระบบ, ปัญหาสังคมไทยจะเสื่อมทรุดต่อเนื่อง

ผมยืนยันเสมอมาว่าที่ประเทศไทยเราติดหล่มอยู่กับความขัดแย้งยาวนานนั้นเป็นเพราะมาตรฐานการศึกษาของเราต่ำ

ระดับประถมอ่านไม่ออก, เขียนไม่ได้เป็นจำนวนมาก ระดับมัธยมสอนให้ท่องจำและเรียนหนังสือเพื่อให้สอบผ่านเท่านั้น ระดับมหาวิทยาลัยไม่สอนให้คิดวิเคราะห์ จึงเชื่อตามข้อมูลที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งป้อนให้ นาน ๆ เข้าก็เลือกที่จะเชื่อเฉพาะสิ่งที่ตัวเองเห็นพ้องด้วยเท่านั้น ไม่สามารถจะรับฟังความเห็นที่แตกต่างไปจากตนเองได้

และนั่นคือต้นเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถจะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ แม้ว่าเราจะผลิตคนจบมหาวิทยาลัยปีละมาก ๆ รวมถึงปริญญาโทและเอกในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ อีกไม่น้อย อีกทั้งกระทรวงศึกษาก็มีการตรวจประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยกันอย่างถี่ยิบ แต่มาตรฐานแห่งความคิดความอ่าน หรือ “ผลผลิต” ของระบบการศึกษาของเราก็ยังไม่สารถทำให้ “คุณภาพ” ของสังคมโดยส่วนรวมกระเตื้องขึ้น

อธิบายได้ด้วยเหตุผลหลักประการเดียว นั่นคือระบบการศึกษาไร้คุณภาพของเราทำให้วิธีคิดและปฏิบัติของสมาชิกในสังคมไม่อาจจะขับเคลื่อนให้ประเทศชาติก้าวไปสู่จุดที่พ้นจากภาวะน่ากังวลอย่างที่เห็นอยู่ได้

ตัวอย่างง่าย ๆ อีกอย่างหนึ่งคือค่านิยมของคนไทยต่อพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงของนักการเมืองและข้าราชการประจำนั้นยิ่งวันก็ยิ่งจะย่ำแย่ลงแม้กับคนที่จบมหาวิทยาลัยซึ่งนัยว่าจะต้องบ่มเพาะการทำความดีและสร้างสังคมแห่งความชอบธรรม

แต่เอาเข้าจริง ๆ กระแส "ทุนนิยมสามานย์"และความเห็นแก่ตัวกลับจะพอกพูนหนักขึ้น ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ไม่สามารถจะทำให้คนที่จบหลักสูตรการเรียนการสอนมีความสำนึกในความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อยกระดับมาตรฐานแห่งศีลธรรมและจริยธรรมซึ่งครั้งหนึ่งเคยสูงกว่านี้ น่าชื่นชมกว่านี้

รัฐมนตรีศึกษาจาตุรนต์ ฉายแสงบอกว่าข้อมูลทางการพบว่าในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนที่อ่านได้ แต่ไม่เข้าใจประมาณ 14,600 คนหรือร้อยละ 3.2 อ่านได้ เข้าใจบ้าง ควรปรับปรุงประมาณ 62,000 คนหรือร้อยละ 14 และเมื่อรวมกับนักเรียนที่อ่านไม่ได้ และกลุ่มที่อ่านได้แต่อยู่ในระดับควรปรับปรุงจะมีจำนวนมากถึง 127,300 คน

ส่วนระดับชั้น ป. 6 ที่นักเรียนอ่านได้ แต่ไม่เข้าใจประมาณ 7,080 คนหรือร้อยละ 1.59 อ่านได้ เข้าใจบ้าง ควรปรับปรุงประมาณ 51,580 คนหรือร้อยละ 11.6

และเมื่อรวมกลุ่มที่อ่านไม่ได้กับกลุ่มที่อ่านได้แต่อยู่ในระดับปรับปรุง รวมจำนวน 73,290 คน

คุณจาตุรนต์บอกว่าเมื่อรวมทั้งหมดที่เป็นปัญหาแล้วก็ตกประมาณ 200,590 คน ซึ่งรัฐมนตรีศึกษาบอกว่าไม่อยากให้กลัวว่าเป็นตัวเลขที่สูงแล้วกลายเป็นความผิดพลาดบกพร่อง แต่อยากให้เป็นเรื่องที่ผู้บริหารและครูควร “กล้าเผชิญความจริง” และจะทำอย่างไรจึงจะลดจำนวนเด็กเหล่านี้ได้ เช่นการหาเวลาสอนเพิ่มเพื่อปรับปรุง และจำเป็นต้องเรียนเข้มข้นมากขึ้น

ประเด็นปัญหาจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่นักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่เป็นอย่างเดียว แต่นักเรียนที่อ่านออกเขียนได้พอสมควร และผ่านการสอบได้เป็นขั้น ๆ ก็ยังมีปัญหาว่า “คิดไม่เป็น”

นี่จึงเป็นที่มาของปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เราเผชิญอยู่ในสังคมไทยวันนี้

ที่มา:
1. http://www.oknation.net/blog/black/2013/10/01/entry-1 (โดยคุณ สุทธิชัย หยุ่น)

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment