Thursday, October 3, 2013

วิกฤติยูโรโซน “แยกกันเราอยู่ รวมกันเราตาย” กับการทำลายกลไกอัตราแลกเปลี่ยน (ตอนที่ 2 จบ)



จากบทความที่แล้วเราได้พูดถึงการเสียสมดุลของกลไกอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นเครื่องมือช่วยเหลือให้ประเทศที่มีความสามารถในการส่งออกด้อยกว่าสามารถต่อกรกับประเทศที่แข็งแรงผ่านกลไกอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการรวมกลุ่มประเทศแล้วใช้เงินสกุลเดียวกันแล้วไซร้ กลไกที่ว่าก็จะไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป ซึ่งก็หมายความว่าประเทศที่เคยได้ประโยชน์จากการอ่อนตัวของค่าเงินก็จะไม่ได้อานิสงส์นี้อีกต่อไป ในทางกลับกันประเทศเหล่านี้ยังต้องคอยซึมซับการแข็งค่าจากประเทศมหาอำนาจในกลุ่มอีกด้วย

ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงอนาคตของการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในรูปแบบดังกล่าวรวมถึงการคาดการณ์เหตุการณ์น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

หลายคนอาจจะตั้งคำถามกับตรรกะที่ใช้ที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของกลไกอัตราแลกเปลี่ยน โดยการเอาสหภาพยุโรปมาเปรียบเทียบกับประเทศอย่างเช่น ประเทศไทย ซึ่งแน่นอนในหลายๆ จังหวัดของประเทศไทยสามารถสร้างเม็ดเงินจากภายนอกได้มาก แต่ในอีกหลายๆ จังหวัดนอกจากจะไม่สามารถสร้างเม็ดเงินได้แล้วยังจะต้องจ่ายออกไปอีกแล้วเหตุใดจังหวัดประเภทหลังจึงสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยกลไกใดๆ?? กลไกอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศก็ไม่มีมิใช่หรือ??

คำตอบง่ายๆ และสั้นๆ คือ จังหวัดที่ไม่สามารถสร้างรายได้นั้นแท้จริงก็อยู่ไม่ได้ถ้าหากรัฐบาลกลางไม่ได้ส่งเงินสนับสนุน

ในการบริหารเศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศนั้นจะใช้การรวมรายได้จากทั่วทุกพื้นที่เข้ารัฐบาลกลาง และแจกจ่ายออกไปเพื่อธุรกรรมต่างๆ นานาโดยรัฐบาลกลาง สาธารณูปโภครวมถึงเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐโดยมากนั้นก็ถูกรับผิดชอบโดยรัฐบาลกลาง ดังนี้ถึงแม้ว่าในบางพื้นที่ของประเทศนั้นจะไม่สามารถสร้างรายได้มากกว่ามูลค่าการบริโภคสินค้าจากภายนอกก็สามารถดำรงอยู่ได้เนื่องจากรัฐบาลกลางได้ช่วยจัดการค่าใช้จ่ายหลายในหลายส่วน โดยสรุปคือพื้นที่เหล่านั้นจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลกลางจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจังหวัดที่สร้างเม็ดเงินไม่ได้สามารถดำรงอยู่ได้

กลับมาที่กลุ่มสมาชิกที่ใช้สกุลเงิน ยูโร ต่อนะครับ

หากเราพิจารณาถึงเหตุผลที่ผลได้กล่าวข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าหากสหภาพยุโรปจะดำรงอยู่ต่อไป ประเทศที่แข็งแรงอย่างประเทศเยอรมนีจะต้องคอยให้ความช่วยเหลือประเทศอ่อนแออย่างกรีซ โดยการส่งเงินจำนวนมหาศาลให้กับรัฐบาลกรีซเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เฉกเช่นเดียวกับที่รัฐบาลกลางของประเทศเราส่งงบการบริหารจังหวัดให้ส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ตามในความเหมือนนั้นยังมีความแตกต่าง เพราะประเทศกรีซเองเป็นรัฐเอกราช จึงเป็นการยากที่ประเทศภายนอกจะครอบงำนโยบายของประเทศกรีซได้ ดังนั้นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องใช้เงินเข้าอุดหนุนหรือปล่อยให้กู้ยืมไปอีกนานเท่าใด

หากเกิดสภาวะที่มีการแบ่งแยกเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือ กับประเทศที่รับความช่วยเหลือ ไม่นานประชากรในประเทศที่ให้ความช่วยเหลือจะมีความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ และอาจนำไปสู่ความต้องการที่จะแบ่งแยก (ทั้งๆ ที่ตอนแรกได้รับประโยชน์จากกลไกค่าเงิน) ดังที่เคยเกิดขึ้นกับประชาชนในประเทศรัสเซียและยูเครน ในช่วงเวลาก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

โดยสรุปนะครับ การรวมกลุ่มแบบนี้จะอยู่ต่อไปได้ ถ้าประเทศที่ด้อยศักยภาพสามารถพัฒนาตนเองให้ทัดเทียมกับประเทศผู้นำอย่างประเทศเยอรมนี เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเปรียบในกลไกอัตราแลกเปลี่ยน แต่หากว่าการพัฒนาดังกล่าวไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นช้า ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศผู้นำอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสจะต้องคอยให้ความช่วยเหลืออย่างมาก (ทำตัวเหมือนรัฐบาลกระจายเงินให้พื้นที่ต่างๆ แต่กลับไม่สามารถควบคุมนโยบายหลายๆ อย่างได้) และหากการความแตกต่างของประเทศกลุ่มสมาชิกยังมีมาก ถึงแม้ว่าสหภาพยุโรปจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ หากความเลื่อมล้ำยังคงอยู่ในไม่ช้าเราก็จะได้เป็นสภาพการล้มละลายทางเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนแอในกลุ่มสหภาพยุโรปก็จะเกิดขึ้นซ้ำๆ อีกครั้งอย่างแน่นอน (การวิเคราะห์นั้นเกิดจากมุมมองที่ให้ความสำคัญกับการนำ-เข้าส่งออกเป็นหลักนะครับ)

ที่มา:

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment