Wednesday, September 25, 2013

การรุกรานที่ถูกลืม (Forgotten Invasion)

บทเรียนที่ผมได้เรียนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนมัธยมปลายนั้นพูดถึงบทบาทของประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 น้อยมาก โดยมากจะกล่าวเพียงแค่ว่า "เราเป็นทางผ่าน" ให้กับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อไปทำสงครามในมาลายาและพม่า
อย่างไรก็ดีผมได้มีโอกาสที่จะอ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป พิบูลสงคราม ซึ่งค่อนข้างที่จะต่างออกไปจากบทเรียนที่เคยเรียนในโรงเรียน และต่างออกไปจากความเข้าใจของชาวไทยหลายๆ คน เพราะในยุคนั้นประเทศไทยได้ดำเนินการทางการทหารหลายๆ อย่างด้วยกันภายใต้นโยบายการทวงคืนผืนแผ่นดินที่เคยสูญเสียไปให้กับชาติตะวันตก


Invasion of Indochina (Franco-Thai War)
เริ่มจากในปีคริสตศักราชที่ 1940 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ประเทศฝรั่งเศสได้ถูกกองทัพนาซีเข้ายึดครองเสียพื้นที่ไปกว่าครึ่งค่อนประเทศ รัฐบาลโดยจอมพล ป พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย หรือ ราชอาณาจักรสยามในขณะนั้น เห็นว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้ทวงคืนผืนแผ่นดินที่เราได้เสียไปให้กับฝรั่งเศสในสมัยก่อนหน้า กองทัพไทยจึงได้จัดเตรียมกำลังราว 60,000 นาย โดยมีกองทัพบูรพาเป็นกองกำลังหลัก บุกเข้าโจมตีหลายพื้นที่ในอินโดจีน ในขณะที่ฝั่งฝรั่งเศสมีกำลังประมาณ 62,000 นาย ประกอบด้วยชาวฝรั่งเศส 12,000 และชาวอาณานิคมอีก 50,000 นาย

ในเดือนมกราคม 1941 กองทัพบูรพาและกองทัพอีสานได้เปิดการโจมตีลาวและกัมพูชา และกองทัพไทยก็ได้รับการตอบโต้จากฝรั่งเศสโดยทันทีทั้งทางบก และทางน้ำในเวลาต่อมา โดยภาพรวมแล้วการรบทางบกนั้นฝ่ายไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบฝรั่งเศสอย่างมาก แต่ถ้าเป็นทางน้ำแล้วนั้นฝ่ายไทยเสียเปรียบเป็นอย่างมาก (หลายท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องยุทธนาวีเกาะช้างมาบ้าง) ในท้ายที่สุดเพื่อให้เกิดสันติภาพในคาบสมุทร ฝ่ายไทยจึงได้ให้จักรวรรดิ์ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นผลให้ฝ่ายฝรั่งเศสจำต้องคืนพื้นที่หลายจังหวัด เช่น พระตะบอง, ศรีโสภณ (กัมพูชา), หลวงพระบาง, จำปาศักดิ์ (ลาว) ฯลฯ คืนให้กับฝ่ายไทย


Invasion of Shan and Kayah States (Burma Campaign)
ในช่วงปลายปี 1941 ถึงต้นปี 1942 กองทัพญี่ปุ่นทำสัญญากับกองทัพไทย โดยตกลงกันว่าจะให้ฝ่ายไทยบุกเข้ายึดรัฐฉานกับคะยิ่นในพม่าทั้งนี้จุดประสงค์อาจจะทำเพื่อการตัดการขนส่งกำลังระหว่างจีนกับพม่าและเป็นการป้องกันทางปีกขวาของญี่ปุ่น ดังนี้แล้วประเทศไทยได้ใช้กองกำลังราว 35,000 นายจากกองทัพพายัพประกอบด้วย 5 กองพล ได้แก่ กองพลที่ 2 กองพลที่ 3 กองพลที่ 4 กองพลทหารม้า กรมทหารม้าที่ 12 กองทหารปืนใหญ่ โดยมี พลตรี จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ (ยศในขณะนั้น) เป็นแม่ทัพบุกเข้ายึดพื้นที่ดังกล่าว และในเวลาต่อมารัฐบาลไทยแต่งตั้งให้พลตรี ผิน ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้ปกครองรัฐ







ที่มา: 
1.http://th.wikipedia.org/wiki/สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส_ร.ศ._122
2.http://warfarehistorian.blogspot.com/2012/05/collaborators-traitors-franco-thai-war.html
3. Ronalds, B. E. (2004). Thailand's Secret War: The Free Thai, OSS, and SOE during Worldwar 2. Cambridge: Cambridge University Press.
4. http://en.wikipedia.org/wiki/Burma_Campaign
5. http://en.wikipedia.org/wiki/Franco-Thai_War

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment