Wednesday, September 25, 2013

สหภาพโซเวียตกับคอมมิวนิสต์ในอุดมคติ

อดีตสหภาพโซเวียต (The Union of Soviet Socialist Republics - USSR) เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของ "คอมมิวนิสต์" ที่ทรงอิทธิพลและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันให้ "คอมมิวนิสต์" ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศทั่วโลกจนกระทั่งทำให้เกิดสภาวะสงครามเย็นในเวลาต่อมา ถ้าจะพูดถึงการก่อตั้ง USSR เราคงต้องย้อนกลับไปดูปฏิวัติในรัสเซียช่วงปี ค.ศ.1917 นำโดยพรรคบอลเชวิกจนกระทั่งนำไปสู่การใช้แนวคิดของลัทธิเลนิน (Leninism หรือ Marxism-Leninism) มาใช้กับโลกความจริงเป็นครั้งแรก การปฏิวัติครั้งนี้ก่อให้เกิดรัฐสังคมนิยมขึ้นมาแทนที่การปกครองของราชวงศ์โรมานอฟเดิม การปฏิวัติครั้งนี้นำไปสู่ประเด็นที่น่าศึกษาค้นคว้ามากมาย อย่างไรก็ดีในบทความนี้เราจะโฟกัสที่แนวคิดของลัทธิเลนินในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยเอาเปรียบเทียบกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ดั้งเดิมที่เริ่มต้นโดย คาร์ล มาร์กซ์



โลกของคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต โดยมากจะมีลักษณะเป็นระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีการรวมศูนย์อำนาจที่โปลิศบูโร และหลายประเทศก็เป็นเผด็จการไปเลย อย่างไรก็ดีลักษณะเฉพาะของกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่ใกล้เคียงกันคือระบบเศรษฐกิจ (เนื่องมาจากแนวคิดคอมมิวนิสต์เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์) กล่าวคือมีการรวมศูนย์การตัดสินใจจากภาครัฐแทนที่การใช้ตลาดในการตัดสินใจ ภาครัฐจะทำการรวบรวมปัจจัยการผลิตเป็นของรัฐ จัดตั้งแผนการผลิตและแผนการพัฒนาประเทศอย่างมีทิศทาง และกระจายผลิตผลรวมถึงรายได้ที่เกิดขึ้นกลับสู่ประชาชนโดยมุ่งเน้นให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม รัฐจะเป็นผู้จัดการทั้งงานสาธารณะสุขรวมไปถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นการปกครองที่เกิดจากแนวคิดของลัทธิเลนิน

การจัดการแบบรวมศูนย์นี้เองที่ผมจะกล่าวว่าเป็นการจัดการที่ขัดกับหลัก Pure Communist ซึ่งเป็นที่มาของหัวข้อที่ผมเขียนว่าแม้แต่สหภาพโซเวียตยังไม่เคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด แท้จริงแล้วงระบบที่ใช้อาจจะเรียกว่าเป็นระบบกึ่งทาสกึ่งทุนนิยม.... ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?? ก่อนที่เราจะลงรายละเอียดลงไปมากกว่านี้ เราลองหันมาทำความเข้าใจถึงความหมายของ Surplus และระบบการจัดการ Surplus ที่มวลมนุษยชาตินั้นเคยใช้กัน

Surplus คืออะไร? ในสังคมทุกยุคทุกสมัย เป็นเรื่องธรรมดามากที่มนุษย์คนหนึ่งจะสร้างผลิตผลมากกว่าความต้องการในการบริโภคของตนเอง ทั้งนี้ก็อาจจะมีไว้เผื่อให้กับผู้ที่ไม่ได้ทำงาน เช่น บุตร ผู้ป่วย ฯลฯ ส่วนเกินที่นอกเหนือจากความต้องการในการบริโภคนี้เองที่เราเรียกว่า Surplus ดังนี้แล้วสังคมจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. คนทำงาน (ผู้ใช้สมอง หรือ ร่างกายในการทำงาน) 2. คนไม่ทำงาน ตัวอย่างเช่น นาย A ยืมขวานนาย B ไปตัดต้นไม้โดยภายหลังตัดต้นไม้เสร็จนาย A แบ่งไม้บางส่วนให้นาย B ดังนี้จะเห็นว่าการทำงานของนาย A นั้นงานที่เกิดขึ้นประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1. ส่วนที่จำเป็นสำหรับการบริโภคของตนเอง 2. ส่วนเกิน หรือ Surplus (ทั้งนี้ Surplus อาจจะเป็นผลตอบแทนสำหรับความเสี่ยงจากการลงทุนของนักลงทุน, ค่าเช่าที่ดิน, ภาษีที่จะจ่ายให้รัฐบาล, ค่ายืมอุปกรณ์ ฯลฯ) 

ในสังคมมนุษย์ตั้งแต่อดีตเราได้มีระบบจัดการ Surplus อยู่ทั้งสิ้น 4 ระบบ และ Karl Marx ได้พูดถึงระบบที่ 5 ที่เขาเรียกมันว่า "คอมมิวนิสต์" ระบบเหล่านั้นมีดังนี้
 1. Ancient / Self - Employ: ระบบโบราณ - ระบบนี้ใช้กันตั้งแต่สมัยมนุษย์ถ้ำ หรือในยุคที่มนุษย์มีสังคมเล็กๆ เท่านั้น หลักการของระบบนั้นค่อนข้างง่ายทีเดียวกล่าวคือคนใดเป็นคนสร้าง Surplus บุคคลนั้นก็เป็นคนจัดการเองว่าจะเอา Surplus ไปให้ใคร สังเกตุได้ว่าสมมติ มนุษย์ถ้ำ A ล่ากวางมาได้ 2 ตัวต่อวัน แต่ตัวเขาเองบริโภค 1 ตัวก็เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต(Wage) ดังนั้นเขาเหลือกวางอีก 1 ตัวนั้นคือ Surplus มนุษย์ถ้ำ A เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าเขาจะจัดการอย่างไรกับกวางที่เหลือ 
ประเด็นสำคัญของระบบในแง่การจัดการ Surplus: อำนาจการตัดสินใจในการจัดการกับ 1. ส่วนที่จำเป็นสำหรับการบริโภคของตนเอง และ 2. Surplus นั้นขึ้นอยู่กับผู้ทำงานเอง

2. Slavery: ระบบทาส - ระบบนี้เป็นระบบที่นิยมใช้และค่อนข้างแพร่หลายในหลายๆ อารยธรรมในอดีต ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์โบราณ จักรวรรดิ์ต้าชิงในยุคใหม่ หรือแม้แต่อาณาจักรอยุธยา ผมจะไม่ลงรายละเอียดมากนะครับ แต่จะพูดถึงโครงสร้างคร่าวๆ ของระบบทาส ซึ่งประกอบด้วย นายทาส กับ ลูกทาส ที่มาของลูกทาสนั้นก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละอารยธรรมทั้งนี้อาจจะเกิดจากการติดหนี้, แพ้สงคราม, ต้องโทษทัณฑ์ และอื่นๆ อีกมากมาย หรือแม้กระทั่งอ้างอิงกับหลักศาสนา แต่อย่างไรก็ดีรูปแบบของการจัดการจะเป็นดังนี้ ลูกทาส A ทำงานให้กับนายทาส B ผมสมมติว่าเป็นการทำนา ผลผลิตใดๆ ก็ตามที่ลูกทาส A สร้างขึ้นจะถูกส่งให้กับนายทาส B และนายทาส B จะเป็นผู้จัดการงานที่เกิดขึ้นจากลูกทาส A ทั้งส่วนที่จำเป็นสำหรับการบริโภคของตนเอง(ส่วนที่ 1) และ ส่วนเกิน (ส่วนที่ 2) นายทาส B อาจจะยึดเอาทั้งสองส่วนไปใช้เองแล้วปล่อยให้ลูกทาส A อดอยากแล้งแค้นอย่างไรก็ได้ จะเห็นได้ว่าระบบนี้ดูจะไม่ยุติธรรมสำหรับลูกทาส A สักเท่าใดนัก ในสังคมลักษณะนี้จะมีสองชนชั้นเป็นอย่างน้อยคือ ลูกทาส กับ นายทาส
ประเด็นสำคัญของระบบในแง่การจัดการ Surplus: นายทาสเป็นคนจัดการทั้ง 1. ส่วนที่จำเป็นสำหรับการบริโภคของตนเอง และ 2. ส่วนเกิน หรือ Surplus

 3. Feudalism: ระบบศักดินา - ระบบนี้ใช้มากในยุคกลางของยุโรป รวมถึงประเทศอื่นๆ หลายๆ ประเทศในอารยธรรมตะวันออก ในระบบศักดินาจะมีส่วนประกอบสำคัญคือ เจ้าของที่ดิน กับ ไพร่ ภาระผูกพันธ์เกิดจากเงื่อนไขในการครองที่ดิน ตัวอย่างของระบบนี้คือไพร่ A เป็นผู้ทำนาในที่ดินของเจ้าของที่ดิน B โดยจะทำนาในที่ดินที่เจ้าของที่ดินแบ่งให้ 3 วันต่อสัปดาห์ และจะใช้เวลาอีก 4 วันต่อสัปดาห์ในการทำนาให้กับเจ้าของที่ดิน โดยในสังคมเกิดชนชั้นสองชั้นเป็นอย่างน้อยคือ ไพร่ กับ เจ้าของที่ดิน (แต่สามารถเปลี่ยนชนชั้นได้ง่ายกว่าระบบทาส) โดยตัวแบ่งชนชั้นคือที่ดิน
ประเด็นสำคัญของระบบในแง่การจัดการ Surplus: ไพร่ได้จัดการกับส่วนที่จำเป็นสำหรับการบริโภคของตนเอง แต่เจ้าของที่ดินเป็นผู้จัดการกับ ส่วนเกิน หรือ Surplus
  
4. Capitalism: ระบบทุนนิยม - ระบบนี้คือระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยสองส่วนหลักๆ คือ นายทุน กับ แรงงาน โดยแรงงานจะเป็นผู้ทำงานเพื่อแลกกับค่าจ้าง ภาระผูกพันธ์เกิดจากสัญญาการจ้างงาน โดยปกติแล้วมูลค่าของผลิตผลที่คนงานคนหนึ่งผลิตได้จะต้องสูงกว่าค่าจ้างสำหรับการทำงานนั้น ทำให้สังคมเกิดชนชั้นสองชั้น (แต่สามารถเปลี่ยนชนชั้นได้ง่ายกว่าระบบทาสและระบบศักดินา) โดยตัวแบ่งชนชั้นคือทุน
ประเด็นสำคัญของระบบ: คนงานได้จัดการกับส่วนที่จำเป็นสำหรับการบริโภคของตนเอง และนายทุนเป็นผู้จัดการกับ ส่วนเกิน หรือ Surplus
  
5. Communism: ระบบคอมมิวนิสต์ - คอมมิวนิสต์ในที่นี้หมายถึง pure communist เป็นระบบที่ไม่มีรูปแบบชัดเจนเพราะเป็นเพียงสิ่งจินตนาการของ Karl Marx ในระบบนี้มุ่งเน้นให้ผู้ทำงานเป็นผู้จัดการกับงานที่ตนเองสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นส่วนที่จำเป็นสำหรับการบริโภคของตนเอง หรือส่วนเกิน โดย Marx เชื่อว่าในท้ายที่สุดสังคมจะต้องมุ่งสู่สิ่งนี้ และยังผลให้เกิดสภาพไม่มีรัฐ (Stateless) และไม่มีชนชั้น (Classless) โดยสังคมจะเป็นผู้ตัดสินว่าต้องการอะไร และควรจะผลิตอะไร ปริมาณเท่าใด อย่างไรก็ดี Marx ไม่ได้กล่าวถึงการจัดการและโครงสร้างของระบบอย่างเป็นรูปธรรม และไม่ได้กล่าวว่าสังคมจะตัดสินใจว่าผลิตอะไร เท่าไร ได้อย่างไร
ประเด็นสำคัญของระบบในแง่การจัดการ Surplus: อำนาจการตัดสินใจในการจัดการกับ 1. ส่วนที่จำเป็นสำหรับการบริโภคของตนเอง และ 2. Surplus นั้นขึ้นอยู่กับผู้ทำงานเอง
  
จากระบบทั้ง 5 ระบบจะเห็นได้ว่า ระบบเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตนั้นไม่ได้มีความใกล้เคียงกับ Communism เลยแม้แต่น้อย เพราะคอมมิวนิสต์แบบสหภาพโซเวียตนั้น รัฐบาลเป็นผู้มีกรรมสิทธิในผลิตผลที่ได้จากการทำงานของพลเมือง และรัฐบาลจะแจกจ่ายกระจายรายได้ให้กับประชากรพลเมือง ถึงแม้ว่าจะมุ่งเน้นให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียม อย่างไรก็ดีการกระทำดังกล่าวเป็นการรวบรวมอำนาจการจัดการ 1. ส่วนที่จำเป็นสำหรับการบริโภคของตนเอง และ 2. Surplus ไว้กับรัฐบาล ดังนี้แล้วจะเห็นได้ว่าระบบเศรษฐกิจที่สหภาพโซเวียตใช้นั้นไม่ใช่คอมมิวนิสต์แต่อย่างใด 

อ้างอิง:
1. http://www.youtube.com/watch?v=-e8rt8RGjCM - Marx's Theory of Economic Crisis - Cliff Bowman
2. http://www.youtube.com/watch?v=hfjSyOJHg7Q - "Intro to Marxian Economics" 2 - Richard D Wolff
3. http://www.youtube.com/watch?v=LvmFeRGVnSk - "Intro to Marxian Economics" 1 - Richard D Wolff
4. https://www.khanacademy.org/humanities/history/us-history/v/communism?v=MmRgMAZyYN0 - Communism - Salmon Khan
5. http://www.youtube.com/watch?v=rS3-_s-ghbk - Marx's Theory of Capitalism - Ian Shapiro
6. http://en.wikipedia.org/wiki/Communism - Communism
7. http://en.wikipedia.org/wiki/Surplus_value - Surplus Value8. http://www.businessdictionary.com/definition/surplus-value.html

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment