Thursday, September 26, 2013

วิกฤติยูโรโซน “แยกกันเราอยู่ รวมกันเราตาย” กับการทำลายกลไกอัตราแลกเปลี่ยน (ตอนที่ 1)



ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านคงได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปมาไม่มากก็น้อย สืบเนื่องจากปัญหาดังกล่าวทำให้นักการเงินและนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกได้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านได้แนะนำนโยบายการเงินที่เชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตินี้ไปได้อย่างกว้างขวาง

“แยกกันเราอยู่ รวมกันเราตาย???” ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมพาดหัวแปลกๆ เหมือนเป็นนัยว่าการแยกกันอยู่จะส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเหล่าประเทศสมาชิก

หากเราจะพิจารณาถึงลักษณะการรวมตัว และลักษณะการก่อตัวของปัญหาเราจะพบว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาอีกหลายรอบถึงแม้ว่าจะนโยบายการเงิน หรือความช่วยเหลือเฉพาะหน้าของประเทศสมาชิก โดยจะขอยกประเด็นเรื่องการทำลายกลไกของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญของวลีที่ว่า “แยกกันเราอยู่ รวมกันเราตาย”

สหภาพยุโรปประกอบไปด้วย 27 ประเทศสมาชิก โดยประเทศเหล่านี้มีความพยายามที่จะรวมศูนย์ระบบเศรษฐกิจให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องความแตกต่างของกฎหมายทางธุรกิจ มีการอนุญาตให้มีการถ่ายเทของปัจจัยทางการผลิตได้ค่อนข้างเสรี และที่สำคัญประเทศเหล่านี้ใช้สกุลเงินกลางสกุลเดียวที่เรียกว่าเงินยูโร (Euro-€) จะมีก็บางประเทศเท่านั้นที่ไม่ได้ใช้เงินสกุลนี้ เช่น สหราชอาณาจักร เป็นต้น ในบทความต่อไปนี้เราจะพูดถึงเฉพาะส่วนที่ใช้เงินยูโรร่วมกันเท่านั้นนะครับ

การที่ประเทศสมาชิกที่มีความแตกต่างทางความสามารถในทางอุตสาหกรรม เงินทุน เทคโนโลยี รวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ มากมายทำให้เงินยูโรนั้นสร้างความได้เปรียบและเสียเปรียบต่อประเทศสมาชิกอย่างมากมาย

ในสภาวะปกติประเทศที่มีการส่งออกมากๆ และนำเข้าน้อยๆ จะทำให้เงินสกุลของตนเองเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นและส่งผลให้ค่าเงินของประเทศนั้นแข็งค่าขึ้น ในทางกลับกันหากประเทศดังกล่าวมีการส่งออกน้อยมาก และมีการนำเข้าสินค้าก็จะทำให้เงินสกุลของประเทศนั้นอ่อนค่าลง (ในสภาวะที่เราสมมติว่านโยบายการเงินอื่นนั้นเหมือนๆ กัน) โดยธรรมชาติอัตราแลกเปลี่ยนทางการเงินนี้จะเป็นตัวที่คอยรักษาสมดุลให้กับประเทศที่เสียดุลการค้า ตัวอย่างเช่น สมมติประเทศ ก เสียดุลการค้าเป็นอย่างมาก ประเทศนี้ค่าเงินก็จะอ่อนตัวลงทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นไปได้ยาก เพราะราคาสินค้าต่างประเทศจะแพงขึ้นเมื่อเทียบกับการผลิตภายใน ดังนี้ทำให้ความต้องการของการนำเข้าลดลง ในทางกลับกันการส่งออกจะเป็นไปได้ง่ายขึ้นเพราะสินค้าที่ส่งราคาจะถูกลงสำหรับประเทศคู่ค้า ดังนั้นจึงไม่เป็นที่แปลกใจที่ประเทศมหาอำนาจบางประเทศมีความพยายามที่จะแทรกแซงให้ค่าเงินของประเทศตัวเองนั้นอ่อนกว่าที่ควรจะเป็น

คราวนี้เรากลับมาที่สหภาพยุโรปกันอีกครั้ง 

เนื่องจากเหล่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเกิดจากการรวมตัวของประเทศที่มีมาตรฐานทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันอย่างมาก กลุ่มประเทศที่มีการส่งออกมากกว่านำเข้า (อย่างเช่นประเทศเยอรมนี) จะได้รับประโยชน์ของเงินสกุลยูโร เนื่องจากจะมีประเทศที่มีการนำเข้ามากกว่าส่งออกมาถ่วงดุลทำให้ค่าเงินไม่แข็งค่าขึ้นแต่อย่างใด การที่มีประเทศอื่นคอยถ่วงดุลนี้จะทำให้ราคาที่ผลิตออกไปราคาไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น (ซึ่งโดยปกติถ้าค่าเงินแข็งขึ้น จะทำให้สินค้าที่ส่งออกไปมีราคาสูงขึ้นสำหรับประเทศคู่ค้า)

สภาวะดังกล่าวทำให้กลไกการปรับตัวและถ่วงดุลของค่าเงินนั้นไม่ทำงานนั่นก็หมายความว่าประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่ง และมีการส่งออกสูง จะได้ประโยชน์จากการรวมตัวนี้ไปเรื่อยๆ และประเทศที่อ่อนแอที่สุดก็ได้ไม่ได้รับประโยชน์จากกลไกอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งโดยปกติจะคอยช่วยเหลือหรือปรับปรุงความต้องการซื้อสินค้าต่างประเทศ แต่ความต้องการขายสินค้าของผู้ผลิตภายใน

เป็นที่แน่ชัดว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่จะสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการขาดดุลทางการค้าตลอดไป แต่ประเทศที่อ่อนแอในกลุ่มสภาพยุโรปก็จะไม่ได้รับประโยชน์ของการอ่อนตัวของค่าเงิน ในทางกลับกันประเทศเหล่านี้ยังต้องซึมซับการแข็งค่าของค่าเงินจากผลงานทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีความแข็งแกร่งอย่าง ประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศส นั่นหมายความว่าการรวมตัวกันนี้จะเกิดสภาวะที่จะทำให้ประเทศที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่สุดต้องประสบปัญหาทางการเงิน ในขณะที่ประเทศที่แข็งแรงจะได้รับประโยชน์เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด

สมมติว่ามีการกำจัดประเทศที่อ่อนแอจนไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ออกไปจากกลุ่ม ในไม่ช้าประเทศที่อ่อนแออันดับถัดมาก็จะเกิดสภาวะเฉกเช่นเดียวกันนี้ซ้ำๆ ด้วยเหตุผลที่ยกมาข้างต้น นี่ยังไม่ได้พิจารณาปัจจัยอื่นๆ เช่น ความสามารถของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ความสามารถทางธุรกิจของประชากร ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจภายใน ฯลฯ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า Domino Effects ก็ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อม และไม่นานเกินรอที่จะได้พบเห็น

การทำลายกลไกของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเพียงหนึ่งในประเด็นที่น่าจับตามองว่าสหภาพยุโรปจะทำการแก้ไขหรือรับมืออย่างไร ในบทความต่อไปเราจะมาพูดถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศเหล่านี้จะอยู่ร่วมกันต่อไป รวมถึงมีอะไรบ้างที่พวกเขาจะทำเพื่อการอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขในระยะยาว

ที่มา:
1. http://www.oknation.net/blog/econhermit

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment